เทศน์มหาชาติ
เทศน์มหาชาติ หมายถึง การเทศน์เรื่องพระเวสสันดร พุทธศาสนิกชน เรียกการเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกว่า เทศน์มหาชาติ ซึ่งหมายถึงพระชาติอันยิ่งใหญ่เป็นพระชาติสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าในชาติต่อมา ชาวพุทธมีความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์ ภายในวันเดียวจะได้อานิสงส์มาก เทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่ทำในช่วงหลังออกพรรษาจะมีการแจ้งให้ชาวบ้านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีเวลาเตรียมของไปทำบุญ ในวันเทศน์มหาชาติเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เทศน์ จะนำเครื่องกัณฑ์เทศน์ใส่กระจาด ซึ่งเครื่องกัณฑ์เทศน์ประกอบด้วย ขนมต่างๆ เช่น ขนมกรอบ ขนมกง ขนมกรุย ข้าวเม่ากวน นอกจากขนมแล้วยังมีอาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร น้ำปลา ผลไม้ เช่น มะพร้าว กล้วย ส้ม เป็นต้น และยังมีเครื่องกัณฑ์อื่นๆ เช่น ผ้าไตร บาตร ย่าม เครื่องบริขาร นอกจากนี้จะต้องเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และเงินถวายบูชากัณฑ์เทศน์ด้วย
การเทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่นรูป และพระประยูรญาติที่นิโครธารามหาวิหารในนครกบิลพัสดุ์ ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะบรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระองค์ ด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่า
พระองค์ทรงทราบความคิดนี้จึงทรงแสดงยมกปกฏิหาริย์ โดยเสด็จขึ้นเบื้องนภาอากาศแล้วปล่อยให้ฝุ่นละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระประยูรญาติทั้งหลาย พระประยูรญาติจึงได้ละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ทูลถาม พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติ
การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน 11 เดือน 12 หรือเดือน1
มหาชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเทศน์มหาชาตินั้น ประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน 1,000 พระคาถา หรือ มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือ เทศน์มหาชาติ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาว
การเทศน์มหาชาตินั้น เป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดรในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญทาน ด้วยการพระราชทานวัตถุสิ่งของแก่ชาวเมือง พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่พราหมณ์ชาวเมืองกาลิงคะ พระราชทานพระชาลีและพระกัณหา ซึ่งเป็นพระโอรสและพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชก พระราชทานพระนางมัทรีซึ่งเป็นพระมเหสีแก่ท้าวสักกะ พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็พระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช ………….
มหาเวชสันดรชาดก เป็นชาดกที่มีความสำคัญมากกว่าชาดกอื่น ๆ เพราะพระบารมีของพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบริบูรณ์ในพระชาตินี้ มหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี คือ
ทานบารมี = ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
ศีลบารมี = ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
เนกขัมมบารมี = ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
ปัญญาบารมี = ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
วิริยาบารมี = ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
สัจจบารมี = ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามให้
ขันติบารมี = ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น แม้แต่ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณพระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
เมตตาบารมี = เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาค เนื่องจากเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร อ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
อุเบกขาบารมี = เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
อธิษฐานบารมี = คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณาเบื้องหน้าก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์
เนื้อเรื่อง
หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม ก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษ พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก หรือเรื่องมหาชาติ ทั้ง 13 กัณฑ์ ตามลำดับ ดังนี้
กัณฑ์ที่ 1 ทศพรา พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์ เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ 10 ประการ ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดง ถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร 10 ประการนั้นมีดังนี้
1. ขอให้เกิดในกรุงมัททราช แคว้นสีพี
2. ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
3. ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
4. ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
5. ขอให้พระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
6. ขอให้พระครรภ์งาม ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
7. ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
8. ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
9. ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์ พระนางผุสดีจุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ 16 ชันษา จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉันททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค" เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ 16 พรรษา พระราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชธิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรสชื่อ ชาลี พระธิดาชื่อกัณหา พระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อมาพระจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงคราษฎร์ ได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพื่อให้ฝนตกในบ้านเมืองที่แห้งแล้งกันดาร พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัยไม่พอใจที่พระราชทานช้างคู่บ้านคู่เมืองไป จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์ พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า รถ โคนม นารี ทาสี ทาสา รวมทั้งสุราบาน อย่างละ 700
กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์ เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฏิบัติ กษัตริย์เจตราชจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญป่าเป็นผู้รักษาประตูป่าไม้ กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ปลอดภัย และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของพระอินทร์ กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา
กัณฑ์ที่ 5 ชูชก ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชกพำนักในบ้านทุนวิฐะเที่ยวขอทานตามเมืองต่าง ๆ เมื่อได้เงินถึง 100 กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมียแล้วออกเดินทางขอทานต่อไป เมื่อเห็นว่าชูชกหายไปนานจึงได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว เมื่อชูชกเดินทางมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูกชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อมาเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
กัณฑ์ที่ 6 จุลพน พรานเจตบุตรหลงกลชูชก ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤาษี
กัณฑ์ที่ 7 มหาพน เมื่อถึงอาศรมได้พบกับอจุตฤาษี ชูกชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤาษีให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร พร้อมพรรณนาหมู่สัตว์และพรรณไม้ตามเส้นทางให้ชูชกฟัง
กัณฑ์ที่ 8 กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก รุ่งเช้าเมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ พระเวสสันดรจึงเสด็จติดตามหาสองกุมารแล้วมอบให้แก่ชูชก
กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดนทางกลับอาศรม แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดาและพระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ พระนางมัทรีจึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพรทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น
กัณฑ์ที่ 10 สักรบรรพ พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ จึงแปลเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรจึงประทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน พระอินทร์ในร่างพราหมณ์จึงฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป แล้วตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
กัณฑ์ที่ 11 มหาราช เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้ เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์ พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา 1 เดือน กับ 23 วัน จึงเดินทางถึงเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง 4 เหล่า ทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมจีนครสีพี จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน พระอินทร์จึงได้ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมกษัตริย์ให้หายเศร้าโศกและฟื้นพระองค์
กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์ พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี และเสด็จกลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
|